สำหรับมนุษย์ทุกคนแล้วปัจจัยทั้ง 4 คือสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต ได้แก่อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ซึ่งที่อยู่อาศัยหรือบ้านที่เราจำเป็นต้องใช้ในการหลบแดด หลบฝน พักผ่อนนอนหลับนั้นก็มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ บวกกับสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน จึงทำให้ผู้ที่ซื้อบ้านมาแล้วยังผ่อนไม่หมดถึงกับชักหน้าไม่ถึงหลังกันเลยทีเดียว
เนื่องจากว่าการซื้อผ่อนบ้านสักหลังนั้น นอกจากจะต้องจ่ายส่วนที่เป็นเงินต้นแล้ว ยังต้องจ่ายส่วนที่เป็นดอกเบี้ยอีกด้วย เลยส่งผลให้ภาระก้อนนี้หนักหนาขึ้นมาไม่น้อยเลย แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะการรีไฟแนนซ์บ้านจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของคุณได้อย่างแน่นอน
รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร
การรีไฟแนนซ์บ้าน คือการชำระหนี้ที่เหลืออยู่ของธนาคารเดิมด้วยเงินที่กู้ยืมมาจากธนาคารแห่งใหม่ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำลงกว่าธนาคารเดิม โดยการรีไฟแนนซ์บ้านนอกจากจะช่วยลดภาระหนี้สินที่คุณจำเป็นต้องจ่ายในแต่ละเดือนแล้ว ยังสามารถช่วยให้คุณผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้นอีกด้วย
แต่การรีไฟแนนซ์บ้านไม่ได้สามารถทำโดยการย้ายภาระหนี้สินไปยังธนาคารใหม่ได้เพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารเดิมก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการรีไฟแนนซ์บ้านธนาคารเดิมก็เปรียบได้กับการลดดอกเบี้ยบ้านธนาคารเดิมนั่นเอง
เนื่องจากในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีแรกที่เริ่มผ่อนบ้านนั้น จะยังคงได้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นโปรโมชั่นอยู่ จึงทำให้เสียดอกเบี้ยค่อนข้างถูก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนหมดช่วงโปรโมชั่น ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งถ้าหากต้องการที่จะลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเดิม ก็สามารถทำได้ด้วยการรีไฟแนนซ์บ้านธนาคารเดิมนั่นเอง
ข้อดีของรีไฟแนนซ์บ้าน
สำหรับใครที่กำลังสนใจหรือมีความลังเลเกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์บ้าน ในหัวข้อนี้เราจะพามาดูข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้านกันว่ามีอะไรบ้าง และข้อดีแต่ละอย่างนั้นเด็ดขนาดไหน เพื่อให้ทุกคนได้นำข้อดีเหล่านี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้านจะมีอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
- ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้าน
การรีไฟแนนซ์บ้านนั้นมีจุดเด่นหรือข้อดีที่หลาย ๆ คนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเลยก็คือช่วยลดอัตราดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้านนั่นเอง เนื่องจากการรีไฟแนนซ์ก็คือการกู้ยืมเงินจากธนาคารใหม่ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารเดิม มาใช้ในการปลดภาระหนี้สินบ้านจากธนาคารเดิม และหันไปผ่อนชำระหนี้ให้กับธนาคารใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงนั่นเอง
- ช่วยลดภาระหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
อย่างที่เรารู้กับว่าการรีไฟแนนซ์บ้านจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยที่เราต้องเสียไปกับการผ่อนบ้านนั้นถูกลง นอกจากนี้แล้วเนื่องจากการรีไฟแนนซ์บ้านเป็นการกู้ยืมเงินจากทางธนาคารใหม่ไปชำระหนี้สินส่วนที่เหลืออยู่กับทางธนาคารเดิม
แน่นอนว่ายอดวงเงินกู้ยืมกับทางธนาคารใหม่ก็จะไม่ได้สูงเท่ากับยอดวงเงินกู้ยืมของทางธนาคารเดิมอยู่แล้ว เพราะว่าเราได้มีการชำระหนี้สินกับธนาคารเดิมไปแล้วบางส่วนนั่นเอง ซึ่งเมื่อยอดวงเงินกู้ยืมกับธนาคารใหม่น้อยลง ยอดที่คุณต้องชำระต่อเดือนก็จะลดน้อยลงไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาระหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในแต่ละเดือนลดน้อยลงไปด้วยนั่นเอง
- ช่วยให้สามารถผ่อนบ้านหมดได้เร็วยิ่งขึ้น
การรีไฟแนนซ์บ้านจะช่วยให้บ้านของคุณปลดภาระหนี้สินได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้คุณสามารถชำระหนี้ในส่วนของเงินต้นได้มากขึ้น และส่งผลให้ภาระหนี้สินหมดเร็วขึ้นตามไปด้วย
โดยสามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัด ๆ ก็คือ จากปกติที่คุณต้องผ่อนชำระหนี้กับทางธนาคารเดิม 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนเงินต้น 5,000 บาทและส่วนดอกเบี้ย 5,000 บาท
แต่เมื่อคุณรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ที่อัตราดอกเบี้ยถูกลง โดยต้องการผ่อนชำระหนี้ด้วยเงิน 10,000 บาทต่อเดือนเท่าเดิม ซึ่งส่วนของดอกเบี้ยอาจเหลือเพียงแค่ 2,000 บาท จึงทำให้คุณสามารถชำระในส่วนของเงินต้นได้มากถึง 8,000 บาทต่อเดือน และเมื่อยอดหนี้เงินต้นหมดได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าบ้านของคุณผ่อนหมดได้เร็วมากเท่านั้น
รีไฟแนนซ์บ้าน เสียค่าอะไรบ้าง
ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการรีไฟแนนซ์บ้านนั้นเบื้องต้นจะมีอยู่ 4 อย่างหลัก ๆ ซึ่งก็คือ
- ค่าสำรวจและประเมินราคาหลักประกัน
ค่าใช้จ่ายในการสำรวจและประเมินหลักประกันนั้นจะขึ้นอยู่กับที่ตั้งของหลักประกัน แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้วค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนอง
สำหรับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนองนั้นจะเป็นส่วนที่ต้องชำระให้กับกรมที่ดิน ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้จะคิดเป็น 1% ของวงเงินกู้ยืม
- ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ต้องเสียจะได้แก่ค่าอากรแสตมป์สัญญาเงินกู้เป็นต้น โดยค่าอากรแสตมป์สัญญาเงินกู้นี้จะคิดเป็น 0.05% ของวงเงินกู้ยืม
- ค่าประกันอัคคีภัย
ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าประกันอัคคีภัยนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องจ่าย เนื่องจากประกันอัคคีภัยเป็นประกันภาคบังคับที่ผู้กู้ซื้อบ้านทุกคนต้องทำ โดยราคาของประกันอัคคีภัยจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของหลักประกัน แต่ทั่ว ๆ ไปแล้วจะมีราคาไม่แพง ซึ่งประมาณ 1,000-3,000 บาท
จะรีไฟแนนซ์บ้านต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
การรีไฟแนนซ์บ้านไม่ใช่สิ่งที่ใครก็สามารถทำกันได้เลย แต่จะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน ซึ่งหากใครที่กำลังต้องการจะรีไฟแนนซ์บ้าน จะอ่านข้ามหัวข้อนี้ไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะสำคัญมากเลยทีเดียวว่าคุณจะได้รับอนุมัติให้รีไฟแนนซ์บ้านหรือไม่
สำหรับคนที่ประกอบอาชีพอิสระ
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีอายุมากกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีสัญชาติไทย
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน
- มีการผ่อนชำระหนี้บ้านกับทางธนาคารเดิมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี
สำหรับพนักงานบริษัท ราชการ รัฐวิสาหกิจ
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีอายุมากกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีสัญชาติไทย
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีอายุการทำงานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร)
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท
สำหรับเจ้าของกิจการ เจ้าของธุรกิจ
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีอายุมากกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีสัญชาติไทย
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีการดำเนินธุรกิจในประเทศมาแล้ว 2 ปีเป็นขั้นต่ำ
- ผู้ทำสัญญาจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 50,000 บาทต่อเดือน
รีไฟแนนซ์บ้าน มีขั้นตอนอย่างไร
สำหรับใครกำลังต้องการจะรีไฟแนนซ์บ้าน แต่ยังคงกังวลและสับสนอยู่ว่าควรทำอะไรบ้าง และมีขั้นตอนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ในหัวข้อนี้เราจะมาอธิบายขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้านให้อ่านกันค่ะ ว่ามีกี่ขั้นตอนและต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนสามารถทำการรีไฟแนนซ์บ้านได้อย่างสบายใจ
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน
- ตรวจสอบเงื่อนไขและสัญญาการกู้เงิน
ก่อนที่จะยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์บ้าน จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบเงื่อนไขและสัญญาการกู้ของธนาคารเดิมและของธนาคารใหม่ให้รอบคอบเสียก่อน เนื่องจากเงื่อนไขการรีไฟแนนซ์บ้านของแต่ละธนาคารจะแตกต่างกันออกไป เช่น บางธนาคารอาจมีเงื่อนไขว่าต้องผ่อนชำระกับธนาคารมาแล้วขั้นต่ำ 2 ปี เป็นต้น
- ตรวจสอบโปรโมชั่น
ก่อนที่จะเลือกธนาคารใหม่สำหรับการรีไฟแนนซ์บ้าน ก็ควรตรวจสอบโปรโมชั่นของหลาย ๆ ธนาคารให้ดีเสียก่อน เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวคุณเอง ซึ่งหลัก ๆ แล้วควรเลือกธนาคารใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารเดิม แต่ทั้งนี้ก็อาจดูในส่วนของยอดผ่อนชำระต่อเดือนหรือค่าจดจำนองร่วมด้วย
- เตรียมเอกสารและยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์บ้าน
เตรียมเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการยื่นขอรีไฟแนนซ์บ้านให้ครบถ้วน โดยเอกสารที่ใช้ในการรีไฟแนนซ์บ้านจะมี 3 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกันคือ เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล เอกสารด้านหลักประกัน และเอกสารด้านการเงิน ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วว่าได้เตรียมเอกสารทั้งหมดครบถ้วนเรียบร้อย ก็สามารถเข้ายื่นขอรีไฟแนนซ์บ้านได้เลยทันที
- ประเมินราคาบ้าน
เมื่อธนาคารใหม่ได้รับเรื่องขอรีไฟแนนซ์บ้านแล้ว ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินราคาบ้านหรือราคาหลักประกัน เพื่อที่จะใช้ประกอบกับการอนุมัติ
- ทำสัญญาและจดจำนอง
หลังจากที่ทางธนาคารได้เข้าประเมินราคาบ้านและอนุมัติการรีไฟแนนซ์บ้านเรียบร้อย ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปที่กรมที่ดิน เพื่อให้คุณเซ็นสัญญาและทำการจดจำนอง
จะรีไฟแนนซ์บ้านต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
การรีไฟแนนซ์บ้านนอกจากจะต้องเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ยังต้องเตรียมเอกสารสำคัญซึ่งจำเป็นต่อการรีไฟแนนซ์บ้านให้ครบถ้วนเรียบร้อยอีกด้วย โดยเอกสารที่จำเป็นจะมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
1. เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล
- บัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ทะเบียนสมรส
2. เอกสารด้านหลักประกัน
- โฉนดที่ดิน
- สัญญาเงินกู้ของธนาคารเดิม
3. เอกสารด้านการเงิน
- สลิปเงินเดือน
- รายการเดินบัญชีย้อนหลัง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับรีไฟแนนซ์บ้าน
รีไฟแนนซ์บ้านสามารถทำได้ทุกกี่ปี?
การรีไฟแนนซ์บ้านจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการผ่อนชำระหนี้ถึงตามเงื่อนไขที่ธนาคารที่กำลังทำสัญญาด้วยอยู่ในขณะนั้นได้กำหนดไว้ ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป บางธนาคารอาจกำหนดเงื่อนไขว่าต้องผ่อนชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่บางธนาคารก็อาจกำหนดเงื่อนไขว่าต้องผ่อนชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
มีประวัติเสียทางด้านการเงิน รีไฟแนนซ์บ้านได้ไหม?
สำหรับผู้ที่มีประวัติเสียทางด้านการเงิน เช่น ชำระหนี้ล่าช้ามากกว่า 90-120 วัน หรือมีการค้างชำระ ก็จะทำให้การขอรีไฟแนนซ์บ้านเป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากทางธนาคารใหม่ที่คุณต้องการขอรีไฟแนนซ์จะใช้ประวัติทางด้านการเงินของคุณมาเป็นส่วนในการพิจารณาอนุมัติการรีไฟแนนซ์บ้านนั่นเอง
แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป สำหรับผู้ที่มีประวัติเสียทางด้านการเงินถ้าหากสามารถรักษาประวัติทางด้านการเงินของตัวเองให้กลับมาเป็นปกติได้ต่อเนื่อง 1-3 ปี ก็จะทำให้สามารถยื่นขอรีไฟแนนซ์บ้านได้อย่างสะดวกอีกครั้ง
ควรยื่นสมัครรีไฟแนนซ์บ้านเมื่อไร?
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยบ้านนั้นจะมีการปรับในทุก ๆ ไตรมาส หลาย ๆ ธนาคารจึงมักจะรับพิจารณารีไฟแนนซ์บ้านล่วงหน้าเพียง 1 เดือนหรือ 1 เดือนครึ่งเท่านั้น
สามารถรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารเดิมได้ไหม?
การรีไฟแนนซ์บ้านนั้นนอกจากจะทำกับธนาคารใหม่แล้ว ก็สามารถทำกับธนาคารเดิมได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งการรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารเดิมก็คือการขอลดอัตราดอกเบี้ยนั่นเอง แต่ถ้าหากนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว การรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า
รีไฟแนนซ์บ้าน สรุป
เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้น้อยลงและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้แก่ตัวเองในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ การรีไฟแนนซ์บ้านจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินของคุณได้อย่างแน่นอน หรือถ้าหากใครที่ต้องการปลดภาระหนี้สินบ้านให้ได้เร็วยิ่งขึ้น การรีไฟแนนซ์บ้านก็สามารถตอบโจทย์คุณได้เช่นเดียวกัน
และสำหรับใครที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้านแต่ไม่รู้ว่าจะเลือกธนาคารไหนดี Refinn สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณได้ เพราะที่ Refinn ได้รวบรวมทั้งข้อมูลการรีไฟแนนซ์รวมถึงโปรโมชั่นต่าง ๆ ของแต่ละธนาคารมาไว้ให้คุณแล้ว เพื่อให้คุณสามารถเลือกหรือเปรียบเทียบได้อย่างสะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น มั่นใจได้เลยว่าการเลือกธนาคารเพื่อรีไฟแนนซ์บ้านของคุณในครั้งนี้จะต้องตรงกับความต้องการของคุณแน่นอน