ปัสสาวะบ่อย

เคยลองสังเกตตัวเองหรือไม่ว่าต้องเข้าห้องน้ำบ่อยแค่ไหนในหนึ่งวัน? อาการฉี่บ่อยอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่เกิดจากการดื่มน้ำมาก แต่ในบางรายมันอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ที่ควรระวัง บทความนี้จะพามาไขข้อข้องใจถึงสาเหตุของอาการปัสสาวะบ่อย และวิธีป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามในภายหลัง!



ปัสสาวะปกติ ควรปริมาณเท่าไหร่

โดยทั่วไป คนเรามีการปัสสาวะเฉลี่ยประมาณ 6-8 ครั้งต่อวัน หากพบว่าเราปัสสาวะบ่อยกว่านั้น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่ต้องตื่นมาปัสสาวะมากกว่า 1-2 ครั้ง และมีอาการปวดหรือรู้สึกไม่สบายร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณว่ามีความผิดปกติอะไรบางอย่างเกิดขึ้นได้


สาเหตุของการปวดปัสสาวะบ่อยเกิดจากอะไร

ปวดฉี่บ่อยเกิดจากอะไร

สาเหตุของการปัสสาวะบ่อยอาจมาจากหลายปัจจัย  เช่น

  • การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกาย
  • โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาจืด โรคเบาหวาน หรือโรคไต ที่ทำให้ร่างกายขับน้ำปัสสาวะมากขึ้น
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น ในผู้สูงอายุอาจมีแนวโน้มปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • อาการฉี่บ่อยที่เกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะหรือยารักษาโรคเบาหวานบางประเภท
  • โรคของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่ส่งผลทำให้ความจุของกระเพาะปัสสาวะลดลง เช่น เนื้องอกมดลูก เนื้องอกลำไส้ใหญ่ หรือภาวะมดลูกและกระบังลมหย่อน
  • ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ที่เกิดจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ หรือความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการปัสสาวะ
  • ขนาดกระเพาะปัสสาวะหดเล็กลง ที่อาจมาจากการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือการอักเสบเรื้อรัง
  • การอุดกั้นในท่อทางเดินของปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะค้าง นิ่ว หรือเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ

สัญญาณเตือนของโรคที่เกิดจากการปัสสาวะบ่อย 

อาการฉี่บ่อยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเสมอไป แต่บางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบปัสสาวะที่ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เช่น

  1. โรคเบาหวาน หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะพยายามขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมากขึ้น
  2. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (UTI) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ มีไข้ หนาวสั่น และมีอาการฉี่บ่อย ปัสสาวะกะปริบกะปรอยร่วมด้วย ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้หญิง เนื่องจากลักษณะทางกายภาพที่เอื้อต่อการติดเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะนั่นเอง
  3. โรคต่อมลูกหมากโต พบได้บ่อยในผู้ชายที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากต่อมลูกหมากอาจขยายตัวใหญ่ขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ ทำให้การไหลของปัสสาวะไม่สะดวก ส่งผลให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย มีอาการปัสสาวะติดขัดหรือฉี่ไม่สุดโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  4. ภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน (Overactive Bladder – OAB) เกิดจากการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะที่ผิดปกติ ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน ไม่สามารถกลั้นฉี่ได้ แม้ว่าจะมีปริมาณปัสสาวะน้อยก็ตาม ซึ่งเป็นทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน 
  5. โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ลำดับความรุนแรงของอาการโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว รวมถึงการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยมักแสดงอาการปัสสาวะมีเลือดปนปัสสาวะขุ่น ขัด ปวดบั้นเอวหรือปวดท้องเฉียบพลันอย่างรุนแรงได้
  6. โรคไต หากไตทำงานผิดปกติ อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ได้ดี ส่งผลให้ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น

วิธีป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อไม่ให้มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย 

วิธีป้องกันอาการปวดปัสสาวะบ่อย

อาการฉี่บ่อยสามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นในหัวข้อนี้ เรามีวิธีป้องกันและดูแลสุขภาพของตัวเอง เพื่อไม่ให้มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ดังนี้

  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปในช่วงเย็นหรือก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เนื่องจากสารเหล่านี้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
  • สังเกตอาการเพิ่มเติม โดยอาจตรวจสอบว่ามีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ปวดแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น หรือมีเลือดปน และหากพบอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องในทันที
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพโดยรวม
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ลดการบริโภคอาหารเค็มจัดและไขมันสูง
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้เราทราบถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นและรักษาได้ทันเวลา

สรุป ปัสสาวะบ่อยสัญญาณเตือนที่ก่อให้เกิดโรค

อาการปัสสาวะบ่อย (Frequency urination) เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยที่ประสบปัญหาฉี่บ่อย ฉี่เล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยสาเหตุของอาการนี้เกิดได้จากหลายปัจจัย หากต้องการทราบว่าเรามีอาการปวดฉี่บ่อยแค่ไหน ให้ลองทำการจดบันทึกปริมาณการดื่มน้ำและปัสสาวะในแต่ละวัน หรือที่เรียกว่า Frequency-Volume Chart (FVC) ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยวินิจฉัยสาเหตุของอาการปัสสาวะบ่อยได้เพราะการทำความเข้าใจถึงปัญหาปัสสาวะบ่อยและมีการจดบันทึกเพื่อทราบอาการของตัวเองอยู่ตลอด จะช่วยให้เราได้รับการวินิจฉัยและวิธีการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ได้


By content